วันอาทิตย์ที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2555

อิทธิพลของอารยธรรมอินเดีย อิสลาม และจีนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้


อิทธิพลของอารยธรรมอินเดีย  อิสลาม และจีนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นภูมิภาคที่มีอารยธรรมของหลายแห่งผสมกันอยู่อย่างแพร่หลาย ซึ่งก็แล้วแต่ละพื้นที่ว่าอารยธรรมแบบไหนจะเข้ามามีบทบาทมากกว่ากันเพราะพื้นที่ในภูมิภาคนี้มีทั้งภูมิประเทศแบบแผ่นดินใหญ่ และแบบหมู่เกาะ  จึงทำให้มีอารยธรรมที่แตกต่างกันไป  อารยธรรรมที่แพร่หลายในสมัยโบราณมีอยู่ สาม อารยธรรมนนั่นก็คือ อารยธรรมอินเดีย  อิสลาม และจีน ซึ่งแต่ละอารยธรรมก็จะมีลักษณะเด่นที่ไม่เหมือนกันจนเป็นรากฐานให้กับชาวเอเชียตั้งแต่โบราณเป็นต้นมา การเข้ามาของอารยธรรมทั้งสามนี้มีเข้ามาในช่วงเวลาที่ไม่ตรงกันทำให้การศึกษาลำดับการเข้ามาของแต่ละอารยธรรมนั้นง่ายและชัดเจน
            การติดต่อกันระหว่างอินเดียกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้นมีตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 2แล้ว แต่จากการศึกษาหลักฐานต่างๆพบว่าระหว่างสองภูมิภาคนี้มีการติดต่อกันมากขึ้นในช่วงระหว่างพุทธศตวรรษที่ 7-8 อาจกล่าวได้ว่าพ่อค้าอินเดียเดินทางเข้ามาติดต่อกับชาวพื้นเมืองด้วยการให้ของขวัญ ยารักษาโรค ก่อนจะหยุดพักเพื่อรอลมมรสุมจึงค่อยเดินทางกลับ ระหว่างนั้นจึงเรียนรู้ภาษาพื้นเมืองและยังมีการแต่งงานกับคนพื้นเมืองก่อนที่พวกพราหมณ์และพระภิกษุจะเดินทางเข้ามา อีกทั้งคนภายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เองก็ได้เดินทางไปศึกษาหรือค้าขายที่อินเดียแล้วรับวัฒนธรรมกลับเข้ามาด้วย จึงทำให้ในช่วงนี้อารยธรรมของอินเดียมีการแพร่ขยายมากกว่าอารยธรรมอื่นๆ ซึ่งพบเห็นได้หลายทาง เช่น ทางด้านศิลปะและพุทธศาสนา พบพระพุทธรูปแบบอมราวดีซึ่งเป็นรูปแบบทางภาคใต้ของอินเดียมีปรากฏอยู่หลายแห่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้, ตัวอักษรที่ใช้ในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ก็ล้วนมีรากฐานมาจากตัวอักษรสมัยราชวงศ์ปัลลวะ ทางภาคใต้ของอินเดีย ตลอดจนชื่อสถานที่ที่มีลักษณะคล้ายกับอินเดียและประเพณีที่มีต้นกำเนิดคล้ายกับราชวงศ์ปัลลวะด้วย เป็นต้น
เหตุที่อินเดียมีการติดต่อกันมากขึ้นนั้นเกิดจากหลายสาเหตุ       ซึ่งสาเหตุหลักเกิดจากการที่ศาสนาพุทธในอินเดียนั้นรุ่งเรืองไม่กีดขวางการเดินทางร่วมกับผู้อื่นและเปิดโอกาสให้ทุกชนชั้นสามารถเดินทางออกนอกประเทศเหมือนพวกพราหมณ์ได้ ซึ่งทำให้มีการเผยแพร่พุทธศาสนาไปพร้อมๆกับการค้าขายของพวกพ่อค้าที่ต้องการสินค้าฟุ่มเฟือย คือ ทอง ไม้หอม และยางไม้หอม และที่สำคัญเช่นเดียวกันก็คือ ชาวอินเดียรู้จักการต่อเรือและวิถีลมมรสุมทำให้การเดินทางนั้นแม่นยำและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น  ดังที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้นว่าพ่อค้าชาวอินเดียเป็นพวกแรกที่เดินทางเข้ามาก่อน ทำให้เกิดการผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมกันทำให้ในระยะนี้เกิดอาณาจักรขึ้นมา เช่น การสมรสของพราหมณ์อินเดียกับสตรีพื้นเมืองแต่งตั้งตัวเองเป็นหัวหน้ากลายมาเป็นอาณาจักรฟูนัน เป็นต้น
            อิสลามมาถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยพวกพ่อค้าที่เดินทางเข้ามาทางเรือเพื่อมาติดต่อค้าขายกับคนในแถบนี้ก็ได้นำศาสนาเข้ามาด้วย  โดยเริ่มต้นด้วยการเผยแผ่ให้กับชนชั้นปกครองในเมืองใหญ่ๆ และแถบชุมชนพ่อค้า โดยการจะเปลี่ยนศาสนาเป็นอิสลามนี้จะไม่ใช่การบีบบังคับคือจะแล้วแต่ความศรัทธาของแต่ละคน วิธีการก็จะเทศนาสั่งสอนและเกลี้ยกล่อมชักชวน ไม่ใช้การขู่เข็ญ ซึ่งถือว่าเป็นลักษณะเด่นของศาสนาอิสลาม  ลักษณะของศาสนาอิสลามบริเวณภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้นจะแตกต่างไปจากแถบอื่นเพราะพื้นที่อื่นๆจะเต็มไปด้วยลักษณะทางไสยศาสตร์เวทมนตร์และเรื่องลึกลับแต่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะกลับกลายเป็นเรื่องเชิงวิทยาศาสตร์ มีเหตุมีผล เดินทางสายกลางจึงทำให้คนในแถบนี้มีจิตใจที่กว้างและงดงามไม่หยาบกระด้าง ซึ่งหากเป็นที่อื่นจะมองว่าแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นี้เป็นพวกที่ทำตัวสอดคล้องกับความเป็นสมัยใหม่ นอกจากนี้ยังมีวัฒนธรรมที่คนแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้รับก็คือ ด้านขันติธรรม ซึ่งเป็นเสมือนเครื่องหมายประจำศาสนาอิสลามในพื้นที่นี้
            อาณาจักรในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ได้รับการเผยแผ่ศาสนาอิสลามก็มีหลายแห่ง ยกตัวอย่างเช่น ชาวมาเลเซียที่จะสนใจในสิ่งที่เป็นปัจจุบันมากว่าที่จะเชื่อและงมงายอยู่กับเรื่องลึกลับ และยังเป็นอาณาจักรที่เป็นที่ชุมนุมการค้าขายระหว่างชาติต่างๆด้วยจึงทำให้อิสลามมีแพร่หลายอยู่ในมาเลเซีย     แถบหมู่เกาะสุมาตรา(เปอร์ลัก)มีการบูชาเจว็ดในอดีตแต่เมื่อมีการติดต่อกับพ่อค้าซาราเซนทำให้คนเหล่านี้เปลี่ยนมารับกฎของมูฮัมหมัด  เป็นต้น
            การเผยแพร่วัฒนธรรมของจีนลงมาทางใต้ของประเทศนั้นจะมากหรือน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับการครองราชย์ของจักรพรรดิจีนแต่ละราชวงศ์ และปัญหาภายในประเทศจนทำให้ต้องถอยร่นลงมาทางใต้เป็นเสมือนการสำรวจดินแดนทางตอนใต้ ทำให้การติดต่อกันระหว่างจีนและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้นมีความสัมพันธ์กันเป็นระยะๆแต่มีก็มีความต่อเนื่องอยู่ตลอด และที่สำคัญคืออิทธิพลของอินเดียและอิสลามนั้นเริ่มเสื่อมลงทำให้จีนมีการแผ่อิทธิพลได้ง่ายมากยิ่งขึ้น การติดต่อกับดินแดนทางตอนใต้ของจีนนั้นมุ่งเพียงเพื่อประกาศเกียรติยศศักดิ์ศรีและเพิ่มพูนความรู้ในทางพุทธศาสนาของตนเองเท่านั้น ไม่ได้ต้องการที่จะแผ่อิทธิพลทางการเมืองและทางเศรษฐกิจให้กับอาณาจักรนั้นๆ เหมือนกับอิทธิพลของอิสลาม ในสมัยของราชวงศ์ฮั่นอาณาจักรเวียดนามอยู่ภายใต้อาณานิคมของจีน เวียดนามจึงได้กลายมาเป็นตัวเชื่อมต่อในการแผ่อิทธิพลเข้ามาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อิทธิพลของพุทธศาสนาก็เป็นตัวการหลักที่ทำให้จีนมีการติดต่อกับอาณาจักรต่างๆมากมายที่นับถือพุทธศาสนาตั้งแต่ตอนที่อินเดียนำวัฒนธรรมนี้เข้ามา ที่เห็นได้ชัดคืออาณาจักรศรีวิชัยที่ในสมัยราชวงศ์สุ้งใต้มีการส่งทูตและคอยช่วยเหลือด้านกองทัพในการตีชวาด้วย เหตุเพราะศรีวิชัยเป็นอาณาจักรพาณิชยกรรม ซึ่งควบคุมเส้นทางการค้าทางทะเลระหว่างจีนและอินเดียผ่านไปมาเพื่อค้าขายกันอยู่เสมอ และที่สำคัญอาณาจักรศรีวิชัยนี้มีความเจริญทางด้านพุทธศาสนาทำให้ง่ายต่อการเดินทางมาศึกษาพระธรรมของชาวจีน แทนที่จะเดินทางไปที่อินเดียซึ่งขณะนั้นพุทธศาสนาในอินเดียมีความเสื่อมแล้ว สำหรับอาณาจักรอื่นก็มีการติดต่อกันอยู่บ้างแต่ไม่ได้ชัดเจนเท่ากับเวียดนามและศรีวิชัย เช่นอาณาจักรฟูนันที่จีนได้มีการส่งทูตเข้าไปภายในอาณาจักร  และอาณาจักรเจนละที่ปรองดองและติดต่อกับจีนอยู่ตลอดเวลา เป็นต้น
            การเข้ามาของอารยธรรมทั้งสามนั้นเป็นเสมือนการวางรากฐานทางด้านการปกครอง การเมือง เศรษฐกิจ วิถีการดำเนินชีวิต และอื่นๆอีกมากมายให้แก่คนแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่อารยธรรมที่มีแพร่หลายอย่างกว้างขวางก็น่าจะเป็นอินเดีย รองลงมาคือจีน และอิสลามเป็นลำดับสุดท้าย แม้ว่าหลายประเทศจะมีการติดต่อกับจีนมานานกว่าอินเดียแต่ว่าอินเดียนั้นไม่ได้ขยายอำนาจมาคุกคามอาณาจักรต่างๆในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เหมือนกับจีน ทำให้อารยธรรมอินเดียมีอยู่ในหลายอาณาจักร ในขณะที่จีนจะเด่นอยู่ไม่มากนัก เช่น เวียดนามที่ตกอยู่ภายใต้วัฒนธรรมของจีนก่อนที่จีนจะติดต่อกับแถบทางใต้ และอาณาจักรศรีวิชัยที่จีนต้องการเผยแผ่ศาสนาพุทธแล้วเป็นเมืองท่าสำหรับการค้าขายด้วยจึงมีความสัมพันธ์กันอย่างแน่นแฟ้น เป็นต้น ในขณะที่อินเดียนั้นมีการเผยแผ่ศาสนาพร้อมกับแจกของขวัญ ให้ยารักษาโรคต่างๆ และยังมีการค้าที่สะดวกเรื่องการเดินทางอีกด้วยจึงทำให้เป็นที่แพร่หลายมากกว่า แต่ที่สำคัญคือชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รับวัฒนธรรมอินเดียแล้วนำมาผสมผสานกับวัฒนธรรมพื้นเมืองของตนเองทำให้จึงปรากฏอารยธรรมอินเดียในทุกอาณาจักร  ในทางกลับกันอิสลามนั้นเข้ามาโดยการค้าของพ่อค้าเช่นเดียวกับอินเดีย แต่การแพร่หลายของอิสลามนั้นจะเป็นพวกชนชั้นปกครองมากกว่าและผู้ปกครองเผยแผ่ให้กับประชาชนด้วยความสมัครใจ ด้วยอารยธรรมเหล่านี้ทำให้ชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีรากฐานที่มั่นคงมาตั้งแต่โบราณจนปัจจุบันก็ยังคงมีให้เห็นกันอยู่ และยังทำให้เกิดการพัฒนาต่างๆอย่างไม่หยุดยั้งไม่ว่าจะเป็นเรื่อง การเดินทาง ศิลปะ เทคโนโลยี และต่างๆอีกมากมายจนถึงทุกวันนี้


นางสางบานชื่น  ผกามาศ

2 ความคิดเห็น: