อันที่จริงแล้วไม่ได้ตั้งใจที่จะตั้งบล็อคนี้ขึ้นมา
แต่เผอิญนึกขึ้นได้ว่า มีบทความที่เคยทำส่งอาจารย์ อยู่หลายชิ้นเหมือนกัน
หากเก็บไว้แต่ในคอมของตัวเอง ก็คงจะไม่เกิดประโยชน์อะไร
แต่ถ้ามาเก็บไว้ในบล็อค แล้วเผยแพร่ให้กับคนอื่นได้ชม
บางทีอาจจะเป็นประโยชน์กับใครสักคนนึงก็เป็นได้
ก่อนอื่นก็คงต้องบอกว่า เนื้อหาทั้งหมดเป็นความคิด และความตั้งใจที่ทำส่งให้อาจารย์
งานแต่ชิ้นอาจจะมีข้อผิดพลาดบ้าง ก็คงต้องขออภัยด้วย
แต่ก็เต็มที่กับงานทุกสิ่งทุกอย่างที่ทำ ค่ะ
บานชื่น ^^
Chuenza
รับคำ comment ทุกอย่าง สามารถเข้ามาร่วมแชร์ความคิดเห็นกันได้ค่ะ
วันอังคารที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2555
วันอาทิตย์ที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2555
ราชสกุลแพทย์ในพระองค์
สังคมไทยให้การยอมรับและให้เกียรติและศรัทธาในวิชาชีพแพทย์มานาน ถือกันว่าเป็นวิชาชีพชั้นสูง ในบรรดาผู้ประกอบวิชาชีพแพทย์ “แพทย์หลวง”
จะเป็นแพทย์ที่พระบาทสมเด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ปฏิบัติหน้าที่ในราชสำนัก
ทำหน้าที่ถวายการรักษาพยาบาลองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระมเหสีเทวี
พระราชโอรส พระราชธิดา พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชบริพาร ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ แพทย์หลวงจึงเป็นวิชาชีพที่สำคัญมาก
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงษาธิราชสนิท เป็นต้นราชสกุลแพทย์ประจำพระองค์ (องค์เจ้าชายนวม) ประสูติเมื่อ 8 กรกฎาคม
2351 ทรงเป็นพระราชโอรสพระองค์ที่49 ของพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระมารดาคือ
เจ้าจอมมารดาปราง
พระองค์เจ้านวมได้รับการศึกษาเบื้องต้นตามแบบฉบับของพระราชสำนัก โดยเฉพาะความรู้ทางการแพทย์
ได้ถวายพระองค์เป็นศิษย์ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ทรงมีความรู้ทางด้านการแพทย์และเภสัชกรรม รวมทั้งด้านโหราศาสตร์ ระเบียบแบบแผนประเพณีแห่งราชสำนัก พระองค์ได้ถ่ายทอดให้กับพระองค์เจ้านวมด้วยเมตตาธรรม นอกจากความสนใจในศิลปวิทยาการ
พระองค์เจ้านวมยังมีความสนใจในวิชาการแพทย์แผนใหม่ตะวันตก ที่คณะมิชชันนารีอเมริกันนำเข้ามาเผยแพร่
พร้อมกับการเผยแผ่ศาสนาคริสต์
พระองค์เจ้านวมได้รับราชการสนองพระพระคุณพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รวมทั้งสิ้น 3 รัชกาลด้วยกัน พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงษาธิราชสนิท สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 11
สิงหาคม 2410 ทรงพระชนมายุได้ 63 พรรษา
พระวรวงศ์เธอ
พระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์
หมอสายแพทย์ในพระองค์รุ่นที่ 2
ประสูติเมื่อ
25 กุมภาพันธ์ 2388 เป็นโอรสองค์ที่สองในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงษาธิราชสนิท และ หม่อมแย้ม
หม่อมเจ้าชายสายได้รับการถ่ายทอดวิชาความรู้จากพระบิดา ทั้งวิชาทางการแพทย์ วิชาการพาณิชย์
และวิชาการด้านอื่นๆที่จำเป็นสำหรับการรับราชการสนองพระเดชพระคุณพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อพระบิดาสิ้นพระชนม์
พระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์ได้ดำรงตำแหน่งจางวางกรมหมอ รับหน้าที่เป็นแพทย์ประจำพระองค์
สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
และได้กราบถวายบังคมทูลให้ว่าจ้าง
นายแพทย์ปีเตอร์ เคาแวน (
เป็นแพทย์ชาวตะวันตกคนแรกที่ได้เข้ามารับราชการในพระราชสำนัก ) พระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์
ทรงมีบทบาทในการปรับปรุงการแพทย์ และการสาธารณสุข
ซึ่งเป็นพระราชกรณียกิจที่สำคัญของพระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คือ
การสร้างโรงพยาบาล ได้แก่
โรงพยาบาลศิริราชพยาบาล เมื่อวันที่
26 เมษายน 2431 พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์ สิ้นพระชนม์เมื่อ 3 กันยายน 2455
ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รวมสิริชันษา 67 ปี
หม่อมราชวงศ์สุวพรรณ ได้ไปศึกษาวิชาแพทย์ที่ยุโรป
ตามความเห็นของหมอปีเตอร์ เคาแวน
ว่าควรส่งนักเรียนไทยไปศึกษาวิชาแพทย์อย่างยุโรปแล้วเข้ามารับราชการต่อไปภายหน้า
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเห็นด้วย
จึงเลือกหม่อมราชวงศ์สุวพรรณด้วยว่าจะได้เป็นทายาทสืบวิชาของบิดาและพระอัยกาลงมาเป็นช่วงที่
3 ซึ่งเวลานั้นหม่อมราชวงศ์สุวพรรณ
อายุเพียง 9 ขวบ
ได้ไปศึกษาเล่าเรียนในเมืองสก็อตแลนด์
จนเข้าศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยเอดินเบิร์ก
ได้ปริญญาเป็นเบซออฟเมดิซีน
เมื่อกลับมาที่กรุงเทพฯ
ก็ได้รับการอบรมความรู้กิจการบ้านเมืองจากพระบิดา
ด้วยเพราะหม่อมราชวงศ์สุวพรรณมีความรู้ด้านภาษาอังกฤษดี
เมื่อเข้ารับราชการจึงทรงเป็นทั้งผู้ช่วยในการแพทย์แล้ว ยังทำงานด้านการต่างประเทศ กิจการทหาร
และยังได้ทำการขุดคลองนาอีกด้วย นอกจากนี้
ยังได้รักษาพยาบาลราษฎรในท้องถิ่น
หม่อมราชวงศ์สุวพรรณได้ป่วยเป็นโรคไตพิการเรื้อรัง ความดันโลหิตสูง
และถึงอนิจกรรมเมื่อวันที่ 21 มกราคม 2496 รวมสิริอายุได้ 63 ปี ถือเป็นการหมดช่วงสายแพทย์ในพระองค์รุ่นที่
3
ศาสตราจารย์นายแพทย์หม่อมหลวงเกษตร สนิทวงศ์
เป็นบุตรคนสุดท้องในจำนวน 6 คนของพลเอกเจ้าพระยาวงศานุปพัทธ์ และท่านผู้หญิงตาด (สิงหเสนี) เกิดเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2451
หม่อมหลวงเกษตร
สนิทวงศ์ได้รับการศึกษาเบื้องต้นที่โรงเรียนเทพศิรินทร์ จนในปี พ.ศ.
2466 ท่านอายุได้ 15
ปี พระบาทสมเด็จ พระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับหม่อมหลวงเกษตร
สนิทวงศ์ เป็นนักเรียนทุนส่งไปศึกษาวิชาการแพทย์ที่อังกฤษ เริ่มการศึกษาที่โรงเรียนประจำเทรต์คอลเลจ และศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยเอดินเบิร์ก
แต่เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองทำให้ท่านต้องกลับเมืองไทย
แต่อีกไม่กี่ปีต่อไปท่านได้เดินทางกลับไปศึกษาต่อจนได้ปริญญากลับมา
แล้วได้ทำงานอยู่ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
ท่านได้รับกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นแพทย์ประจำพระองค์ เป็นกรรมการแพทย์ผู้ถวายการรักษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ พระบรมวงศานุวงศ์
เป็นแพทย์ผู้ถวายการประสูติสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฏราชกุมาร สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ ท่านถึงอสัญกรรมเมื่อวันที่ 25
สิงหาคม 2538 ท่านสิริอายุได้ 87 ปี
แพทย์ในพระองค์รุ่นที่5 ประกอบด้วยศาสตราจารย์นายแพทย์ดนัย สนิทวงศ์
ณ อยุธยา และ ศาสตราจารย์นายแพทย์กุลพัทธ์ สนิทวงศ์
ณ อยุธยา
ศาสตราจารย์นายแพทย์ดนัย สนิทวงศ์
ณ อยุธยา เกิดเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2468
ได้รับการศึกษาจากมารดาที่บ้าน
เพราะบิดารับราชการต้องเดินทางบ่อย แต่ท่านเป็นผู้ที่มีสติปัญญาเฉลียวฉลาด
ทำให้สามารถสอบเทียบเข้าเรียนที่โรงเรียนเทพศิรินทร์ได้ ต่อจากนั้นได้เข้าศึกษาเป็นนักเรียนรุ่นแรก ของโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา
เมื่อจบแล้วไปเรียนเตรียมแพทย์ที่คณะวิทยาศาสตร์
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยต่ออีก 2 ปี
แล้วได้ข้ามฟากไปเรียนคณะแพทยศาสตร์
โรงพยาบาลศิริราช
ศาสตราจารย์นายแพทย์ดนัย
สนิทวงศ์ ณ อยุธยา
ได้ปฏิบัติงานสนองพระเดชพระคุณพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ ทรงโปรดเกล้าฯ
ให้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยแพทย์ประจำพระองค์
ต่อมาจึงได้ดำรงตำแหน่งเป็นแพทย์ประจำพระองค์ เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2525
ศาสตราจารย์นายแพทย์ดนัย
สนิทวงศ์ ณ อยุธยา
ถึงอสัญกรรมเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2534
อายุได้ 66 ปี
ศาสตราจารย์นายแพทย์กุลพัทธ์ สนิทวงศ์
ณ อยุธยา
ได้สืบทอดภารกิจมาจากบิดาคือ
ศาสตราจารย์นายแพทย์เกษตร
สนิทวงศ์
ท่านเป็นผู้ถวายการประสูติพระเจ้าหลานเธอ
พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ,
พระเจ้าหลานเธอ
พระองค์เจ้าสิริยาภาจุฑาภรณ์
และพระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าอทิตยาทรกิติคุณ
จะเห็นได้ว่าราชสกุลแพทย์ในพระองค์ ไม่ได้ประกอบวิชีพแพทย์เพียงอย่างเดียว
ยังได้ช่วยสร้างความเจริญก้าวหน้ากับประเทศไทยด้วย สร้างประโยชน์ที่ทำให้ประชาชนอยู่กันอย่างสบายมากขึ้น
แล้วสะดวกยิ่งขึ้น ดังนั้นแพทย์หลวง จึงเป็นวิชาชีพที่มีความสำคัญเป็นอย่างมาก
ไม่ว่าจะในอดีตหรือในปัจจุบันก็ตาม
ที่มา
: เล็ก พงษ์สมัครไทย . (2548).ราชสกุลแพทย์ในพระองค์.กรุงเทพ.น้ำฝน
นางสาวบานชื่น ผกามาศ
มหาตะมะ คานธี นักสู้ "อหิงสา"
มหาตมะ
คานธี นักสู้ “อหิงสา”
โมหันทาส กรามจันท คานธี
หรือมหาตมะ คานธี
เกิดในครอบครัวฮินดู วรรณะแพทย์
ในจังหวัดโปรพันทาร ประเทศอินเดีย
เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2412 ฐานะทางครอบครัวถือว่าร่ำรวย
เมื่อเขาอายุได้เพียง 14 ปี ได้แต่งงานกับกัสตูรไบ หญิงวัยเดียวกันตามประเพณีฮินดูที่พ่อแม่ได้จัดขึ้น
ต่อมาได้มีบุตร 4 คน คานธีเป็นคนที่นิสัยอยากรู้อยากเห็น เป็นคนขี้อาย
เมื่อคานธีอายุได้ 19 ปี ได้จากภรรยาและบุตรไปศึกษาวิชากฎหมายที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในลอนดอน
ประเทศอังกฤษ เมื่อสำเร็จการศึกษากลับมาที่อินเดียแล้ว
ได้ตัดสินใจทำงานให้กับบริษัทกฎหมายอินเดียแห่งหนึ่งที่ต้องการให้เขาไปที่แอฟริกาใต้
ซึ่งสมัยนั้นเป็นส่วนหนึ่งของจักรภพอังกฤษ ชาวอินเดียที่เดินทางไปที่นั่น
จะถูกดูถูกดูแคลนจากคนผิวขาว
ขณะเดินทางเขาถูกตำรวจคนหนึ่งโยนออกมาจากรถไฟพร้อมกับสัมภาระ เขาต้องทนกับความเหน็บหนาวอย่างโกรธแค้น
แม้ว่าเขาจะมีตั๋วรถไฟชั้นหนึ่งก็ตามที
เหตุการณ์นี้เป็นชนวนที่ทำให้เขาทำงานเพื่อสิทธิ และ
เสรีภาพให้กับคนอินเดียในแอฟริกาใต้ถึง 21 ปี โดยใช้ “กฎสัตยาเคราะห์”
หรือการไม่ใช้ความรุนแรง อีกทั้งยังคงต่อสู้ทางกฎหมายด้วยเช่นเดียวกัน เขาเป็นแนวหลักในการจัดตั้งชุมชนชาวนา
บ้านอธิษฐาน, ฟาร์มตอยสตอย ,อาศรมสาบรามาติ
เพื่อชาวอินเดีย โดยมีกัสตูรไป
ภรรยาของเขาคอยช่วยเหลือ
เมื่อภารกิจในแอฟริกาใต้เสร็จสมบูรณ์
คานธีได้เดินทางกลับอินเดีย
ได้เห็นว่าคนอินเดียมีความยากจนกันมาก
จึงได้ขอร้องให้คนอินเดียทิ้งผ้าของอังกฤษทั้งหมดแล้วหันมาผลิตผ้ากันเอง
หรือซื้อเสื้อผ้าของอินเดีย ส่งผลให้คนส่วนใหญ่มีงานทำ เพราะว่าขณะนั้นอินเดียอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษ
จึงเป็นขั้นตอนเดียวที่จะทำให้อินเดียก้าวไปสู่อิสรภาพ คานธียอมเสียสละความสุขส่วนตัวของตนเอง
เพื่ออิสรภาพของประเทศ และเพื่อชาวอินเดียทุกคน
หลายครั้งที่เขาถูกจับคุมขังขณะที่เป็นแกนนำหลักในการเรียกร้องสิทธิ
เสรีภาพของจักรพรรดิของอังกฤษ แต่เขาก็สามารถออกมาต่อสู้
ประท้วงความถูกต้องได้อีกเสมอๆ
คานธีเผยแผ่หลักอหิงสาให้กับคนทั้งอินเดียได้เข้าใจ
หลายครั้งที่เขาประท้วงโดยการอดอาหารจนร่างกายอ่อนแอ แต่เขาก็ยังไม่ย่อท้อ
เพราะมีภรรยาของเขาคอยดูแล
เมื่อต่อมาภรรยาของเขาได้เสียชีวิตลง ช่วงนั้นเป็นเวลาที่ร่างกายของคานธีย่ำแย่ลงมากที่สุด
วันที่ 30 มกราคม 2491 คานธีถูกลอบสังหารโดย
นาธูรัม กอดส์
ชาวฮินดูหัวรุนแรงที่ปะปนอยู่ในหมู่ฝูงชนที่มาชุมนุมสวดมนต์ต่อหน้าสาธารณชน
โดยได้ลั่นกระสุนปืนพกลูกโม่ใส่เขา 3 ครั้งนัดซ้อนจน คานธี
ทรุดลงฮวบลงพร้อมพึมพำนามของพระเจ้าว่า “เฮ รามา”
ที่มา
: ธงไชย พรหมปก. มหาตมะ คานธี นักสู้ “อหิงสา”. พิมพ์ครั้งที่ 1 2537 กรุงเทพฯ: พิมพการณ์ การพิมพ์
นางสาวบานชื่น ผกามาศ
ท่วงทำนองอิสลามในอหิงสาของคานธี
ท่วงทำนองอิสลาม
ในอหิงสาของคานธี
คานธีเป็นบุคคลที่สนใจในศาสนาต่างๆ
อย่างมาก จัดได้ว่าเป็นนักอ่านผลงานทางศาสนาคนหนึ่ง แต่ศาสนาที่มีอิทธิพลต่อจิตใจของคานธีมากที่สุด
คือ ศาสนาอิสลาม สืบเนื่องมาจากมารดาของคานธี “พุธลีไบ” ที่เป็นผู้ที่เลื่อมใสในศาสนาอิสลามอย่างลึกซึ้ง
ไปวัดเป็นประจำทุกวันถือศีลอดอย่างสม่ำเสมอ ไม่เคยรับประทานอาหารก่อนสวดมนต์ จึงทำให้คานธีมีความรู้สึกเคารพต่อพระคัมภีร์อัลกุรอานเป็นอย่างมาก
และคานธียังได้รับแรง บันดาลใจจากภารกิจของท่านศาสดาในระยะแรกของชีวิตด้วย
คือ ช่วงที่ท่านศาสดามูฮัมหมัดถูกเหยียดหยามและปฏิเสธจากประชาชนของท่านเอง
เพราะท่านเลือกศรัทธาและสั่งสอนผู้คนในสิ่งที่ท่านเชื่อ คานธีจึงพบว่า
คำสอนของท่านศาสดาแห่งศาสนาอิสลามเข้ากับหลักอหิงสาของเขาได้อย่างดี
แนวคิดอหิงสาของคานธีมีเนื้อหาเข้มข้นและซับซ้อน
หลายคนได้โต้แย้งนิยามของคำว่า “อหิงสา” ต่างกันออกไป แต่คานธีเห็นว่า
อหิงสาไม่ใช่วิถีของคนขลาดแต่เป็นวิถีของผู้กล้าที่พร้อมจะเผชิญกับความตาย
ซึ่งจะคล้ายกับแนวทางเรื่องความตายของศาสนาอิสลาม คือการกลับไปหาเอกองค์อัลเลาะห์
ที่ให้สู้รบ หากแต่คานธีวิเคราะห์ต่อไปว่าการสู้รบมีจุดมุ่งหมายสูงสุดเพื่ออะไร
เขาได้เห็นว่าสัจจะเป็นจุดมุ่งหมายสูงสุด ที่เป็นจุดรวมของทุกชีวิต
ปรัชญาของเขาคือ “สัจจะคือพระผู้เป็นเจ้า”
หากแต่เขาคิดว่าหากการทำลายล้างชีวิตด้วยกันเองก็เท่ากับทำร้ายสัจจะ
ดังนั้นอหิงสาจึงเป็นแนวทางเดียวที่จะนำไปสู่สัจจะที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ซึ่งคือ
เอกภาพและความศักดิ์สิทธิ์ของทุกชีวิต
คานธีได้เสนอเงื่อนไขเพื่อความจำเป็นเพื่อความสำเร็จในการใช้แนวทางอหิงสา 3 ประการ คือ ไม่ควรเกลียดชังต่อศัตรู
ประการที่สอง ประเด็นนั้นต้องเป็นไปเพื่อความยุติธรรม ประการที่สามคือ
ต้องพร้อมที่จะรับทุกข์ทรมานจนถึงที่สุด
สำหรับเงื่อนไขสามประการนี้ชาวมุสลิมสามารถเข้าใจได้โดยง่าย นักวิชาการหลายท่านเสนอว่า
มีความเป็นไปได้ที่อิทธิพลของคำสอนในศาสนาอิสลามดังกล่าวจะมีปรากฏอยู่ในอหิงสาของคานธี
และสิ่งนี้สามารถนำมาใช้เป็นปัจจัยอธิบายได้หรือไม่
นักวิชาการหลายท่านก็ได้สรุปแนวทางสันตวิธีหรืออหิงสานั้นว่า
แนวทางนี้นั้นจะมีประสิทธิภาพได้ก็ต่อเมื่อใช้คู่กับสัจจะ
แต่ดูเหมือนว่าสัจจะหรือความจริงในโลกสมัยใหม่นี้กลับสลับซับซ้อนเกินกว่าจะสามารถรับรู้โดยสามัญสำนึกหรือความเข้าใจในระดับทั่วๆไปได้
แต่ชาวมุสลิมควรที่จะเข้าใจแนวคิดอหิงสาได้ดีกว่าคนอื่น
เพราะแนวคิดสามารถบรรลุถึงแก่นแท้ของศาสนา
การต่อสู้ของชาวมุสลิมก็ย่อมเป็นการต่อสู้ในนามของพระผู้เป็นเจ้า
และเป็นคุณสมบัติประการหนึ่งของเอกองค์อัลเลาะห์สำหรับมุสลิมทั้งหลายคือ สัจจะ
นั่นเอง แนวคิดอหิงสาของคานธีซึ่งไม่สามารถแยกออกจากสัจจะได้
จึงควรเป็นสิ่งดึงดูดใจอย่างยิ่งสำหรับชาวมุสลิมทุกคน
นางสาวบานชื่น ผกามาศ
ที่มา
: ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ .(2544) .ท่วงทำนองอิสลามในอหิงสาของคานธี .สารคดี ,17(201) ,147-152
วัฒนธรรมการแต่งกายวัยรุ่นไทย
วัฒนธรรมการแต่งกายวัยรุ่นไทย
สังคมไทยในทุกวันนี้ได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว
เนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงทางสังคมเศรษฐกิจ
มาสู่รูปแบบสังคมอุตสาหกรรมตลอดจนเทคโนโลยีต่างๆที่ได้หลั่งไหลเข้ามา ทำให้เกิดการแพร่หลายทางวัฒนธรรมเข้ามาสู่สังคมไทยมากขึ้น
โดยวัฒนธรรมที่สังคมไทยรับเข้ามาไม่เพียงแต่ทางตะวันตกเท่านั้น ทางตะวันออกเองก็เข้ามีบทบาทชัดเจนด้วยเช่นกัน
อาทิเช่นเกาหลี ญี่ปุ่น เป็นต้น วัฒนธรรมทั้งสองแห่งนี้ ทำให้สังคมไทยเปลี่ยนแปลงไปในทุกๆด้าน
การเปลี่ยนแปลงนี้ก่อให้เกิดทั้งข้อดีและข้อเสียต่อสังคม
ตัวอย่างด้านหนึ่งของสังคมที่ในปัจจุบันได้กลายมาเป็นปัญหาที่ผู้ใหญ่ๆหลายคนหนักใจและพยายามแก้ไขให้อยู่ในประเพณีอันดีงามของไทยเหมือนเดิม
นั่นคือ การแต่งกายของวัยรุ่นไทยปัจจุบัน
ที่มักแต่งกายยั่วยวน เซ็กซี่ จนก่อให้เกิดคดีอาชญากรรม การข่มขืนกระทำชำเราหลายต่อหลายคดีมาแล้ว
การแต่งกายของวัยรุ่นไทยในปัจจุบัน
ได้รับอิทธิพลทั้งจากทางตะวันตกและตะวันออก แต่ภายหลังมานี้ วัฒนธรรมเกาหลีและญี่ปุ่นจะได้รับความนิยมในหมู่วัยรุ่นมากขึ้น
ซึ่งไม่ใช่เพียงเฉพาะด้านการแต่งกายเท่านั้น การเต้น การร้องเพลง ศิลปินดาราของเกาหลีและญี่ปุ่น
ก็ได้รับความนิยมมากขึ้นด้วยเช่นกัน ดังนั้นเมื่อเทคโนโลยีได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตทั้งโทรทัศน์
วิทยุ โทรศัพท์ อินเทอร์เน็ต จึงทำให้การติดตามข่าวสารในเรื่องเหล่านี้ทำให้ง่ายและสะดวกมากขึ้น
ซึ่งแนวทางการติดตามข่าวสารดังกล่าวนี้ ทำให้วัยรุ่นซึมซับวัฒนธรรมเหล่านั้นมาโดยไม่รู้ตัว
จนกลายมาเป็นวัฒนธรรมผสมผสานจนบ่อยครั้งที่แยกไม่ออกว่าเป็นวัฒนธรรมของชาติไหน
สื่อและเทคโนโลยีต่างๆ ถือว่าเป็นตัวนำหลักของการทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางด้านการแต่งกายที่ชัดเจนมากที่สุด
เพราะไม่ว่าจะเป็นโทรทัศน์ วิทยุ
อินเทอร์เน็ต ต่างก็พยายามหาข้อมูลที่ผู้คนให้ความสนใจมาเผยแพร่ ยกตัวอย่างเช่น
วัฒนธรรมเกาหลีที่เข้ามามีบทบาทมากในหมู่วัยรุ่น เนื่องมาจากละครของประเทศเกาหลีที่นำมาเผยแพร่ผ่านทางรายการโทรทัศน์ของไทย
ได้รับความสนใจเป็นอย่างมากทั้งทางด้านการแต่งกาย อาหาร วัฒนธรรมท้องถิ่น ประกอบกับสถานที่ถ่ายทำละครนั้นมีความสวยงาม
ชวนให้ไปท่องเที่ยวในสถานที่นั้นๆ
ยิ่งทำให้กระแสวัฒนธรรมเกาหลีทวีความเข้มข้นมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้
ยังมีการโฆษณาเพลงของนักร้อง และดาราเกาหลี ที่มีการแต่งกายที่แหวกแนว มีการ
เจาะรูตามร่างกาย กระโปรงสั้น
เสื้อผ้าสีสันฉูดฉาดลายตา
แม้แต่กระทั่งทรงผมก็มีความแปลกใหม่และแปลกตาเป็นอย่างมาก อินเทอร์เน็ตก็เป็นสื่ออีกแขนงหนึ่งที่มีข้อมูลข่าวสารด้านแฟชั่นต่างๆของเกาหลี
ที่จะมีการรายงานข้อมูลต่างๆอยู่เสมอๆ ทำให้วัยรุ่นไทยเกิดการลอกเลียนแบบ อยากที่จะแต่งตัวตามดาราหรือนักแสดงเกาหลีคนนั้น
คนนี้บ้าง จึงมีการแต่งกายที่เปิดเผยให้เห็นส่วนของเนื้อหนังมากขึ้น
ทั้งรัดรูป เกาะอก สายเดี่ยว กางเกงขาสั้น เป็นต้น นี่เป็นเพียงตัวอย่างจากวัฒนธรรมการแต่งกายเพียงแค่ชาติเดียวเท่านั้น
แท้จริงแล้วพบว่าวัยรุ่นไทยได้ซึมซับวัฒนธรรมการแต่งกายมาจากหลากหลายประเทศ
จึงทำให้ปัจจุบันประเทศไทยมีแฟชั่นการแต่งกายใหม่ๆ ออกมาเสมอ
การปรับปรุงแก้ไขด้านการแต่งกายของวัยรุ่นนั้น
เป็นเรื่องที่ทำได้ยากพอสมควร เพราะมักจะถือเป็นสิทธิส่วนบุคคล อีกทั้งร้านค้าขายเสื้อผ้าแฟชั่นจะมีเสื้อผ้าใหม่ๆที่น่าสนใจออกมาขายให้กับวัยรุ่นอยู่ตลอดเวลา
ไม่ว่าจะเป็นห้างสรรพสินค้า หรือแม้กระทั่งตลาดนัดธรรมดาก็จะพบเห็นเป็นประจำ
ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ทำให้วัยรุ่นแต่งกายกันตามแฟชั่นอยู่ตลอด เพราะฉะนั้นควรที่จะปลูกฝังค่านิยมการแต่งกายเสียใหม่ให้กับวัยรุ่น
ภาครัฐและภาคเอกชนต้องเข้ามาช่วยเหลือ
รวมถึงดูแลเรื่องสื่อและเทคโนโลยีต่างๆด้วยเช่น การรณรงค์การแต่งกายมิดชิด
สื่อสาธารณะ(ดารานักแสดง นักร้อง )ควรเป็นกลุ่มตัวอย่างในการแต่งกาย
และขณะเดียวกันก็ควรแสดงถึงเอกลักษณ์วัฒนธรรมไทยด้วย ในส่วนพ่อแม่ผู้ปกครองเองก็ต้องคอยดูแลลูกหลานของตนเอง
ปลูกฝังให้รักนวลสงวนตัว ไม่ให้แต่งกายมิดชิดไม่เปิดเนื้อหนังมากเกินแต่ก็ไม่ควรให้เด็กรู้สึกว่าก้าวก่ายมากเกินไป
และต้องเป็นแบบอย่างให้กับเด็กๆด้วย ที่สำคัญที่สุดคือ
เยาวชนหรือวัยรุ่นเองก็ต้องรู้จักแต่งกายให้รัดกุม มิดชิด ไม่เปิดให้เห็นเนินอก
หรือขาสั้นจนเกินงาม วัยรุ่นควรที่จะป้องกันอันตรายด้วยการสร้างจิตสำนึกแก่ตนเองเช่นกัน
อย่ามัวแต่ให้คนอื่นมาคอยดูแลเพียงฝ่ายเดียว
นั่นจึงจะทำให้ปัญหาด้านการแต่งกายของวัยรุ่นที่ผิดไปจากวัฒนธรรมการแต่งกายของไทยแบบเดิมนั้นกลับมาเหมาะสมตามเดิม
แม้ว่าการแต่งกายจะเป็นสิทธิส่วนบุคคล
แต่หากวัยรุ่นไทยยังคงมีการแต่งกายที่ล่อแหลม ยั่วยวนกิเลสของผู้ชาย
แต่งกายไม่เหมาะสมกับคติคำสอนของไทยอย่างเช่นทุกวันนี้
ปัญหาอาชญากรรมก็คงจะเกิดขึ้นกับสังคมไทยอีกนับไม่ถ้วน และที่สำคัญคือ
วัฒนธรรมการแต่งกายอันดีงามของไทยคงสูญหายไปอย่างแน่นอนในภายภาคหน้า
อนาคตลูกหลานจะไม่เข้าใจว่า สิ่งไหนเป็นวัฒนธรรมของไทย สิ่งไหนเป็นวัฒนธรรมของต่างชาติ จะรอให้ใครคนใดคนหนึ่งเริ่มต้นแก้ไขหรือปรับเปลี่ยนก่อนจึงจะทำตามไม่ได้
คนไทยทุกคนต้องสำนึกได้ถึงความสำคัญและเป็นคนเริ่ม ทั้งเยาวชน ผู้ปกครอง ภาครัฐ ภาคเอกชน และสังคมต้องคอยช่วยกันดูแลและส่งเสริมการแต่งกายของเด็กไทยให้อยู่ในกรอบในจารีตประเพณีของไทย
จึงจะทำให้สังคมไทยสามารถคงความเป็นไทยให้ลูกหลานได้เรียนรู้วัฒนธรรมอันดีงามของชาติต่อไป
นางสาวบานชื่น ผกามาศ
อ้างอิง
พรพิมล หล่อตระกูล. วัยรุ่นกับการแต่งตัว . [ออนไลน์].
เข้าถึงได้จาก :
http://www.clinicdek.com/index.php?option=com_contened=1.
(วันที่ค้นข้อมูล :
10 ธันวาคม 2554)
พระใบฏีกาอุดร อุตฺตรเมธี. สังคมไทยคาดหวังอะไรจากวัยรุ่นปัจจุบัน. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก :
(วันที่ค้นข้อมูล : 4
ธันวาคม 2554)
ภัทริยา งามมุข. “การวิเคราะห์คุณลักษณะทางวัฒนธรรมไทยของนิสิตนักศึกษาใน
สถาบันอุดมศึกษา.”
นักบริหาร.26(3) :
106-107. กรกฎาคม 2549.
วารุณี เขียวทอง. ปัญหาการแต่งกายของนักศึกษา. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก :
http://sevenstars61.exteen.com/20080707/entry. (วันที่ค้นข้อมูล : 10 ธันวาคม 2554)
วิไลลักษณ์ เสรีตระกูล. “อินเทอร์เน็ตกับคนไทย.” นักบริหาร.
26(1) : 93-97. มกราคม 2549.
อิทธิพลของอารยธรรมอินเดีย อิสลาม และจีนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
อิทธิพลของอารยธรรมอินเดีย อิสลาม และจีนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นภูมิภาคที่มีอารยธรรมของหลายแห่งผสมกันอยู่อย่างแพร่หลาย
ซึ่งก็แล้วแต่ละพื้นที่ว่าอารยธรรมแบบไหนจะเข้ามามีบทบาทมากกว่ากันเพราะพื้นที่ในภูมิภาคนี้มีทั้งภูมิประเทศแบบแผ่นดินใหญ่
และแบบหมู่เกาะ จึงทำให้มีอารยธรรมที่แตกต่างกันไป
อารยธรรรมที่แพร่หลายในสมัยโบราณมีอยู่ สาม
อารยธรรมนนั่นก็คือ อารยธรรมอินเดีย
อิสลาม และจีน ซึ่งแต่ละอารยธรรมก็จะมีลักษณะเด่นที่ไม่เหมือนกันจนเป็นรากฐานให้กับชาวเอเชียตั้งแต่โบราณเป็นต้นมา
การเข้ามาของอารยธรรมทั้งสามนี้มีเข้ามาในช่วงเวลาที่ไม่ตรงกันทำให้การศึกษาลำดับการเข้ามาของแต่ละอารยธรรมนั้นง่ายและชัดเจน
การติดต่อกันระหว่างอินเดียกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้นมีตั้งแต่พุทธศตวรรษที่
2แล้ว แต่จากการศึกษาหลักฐานต่างๆพบว่าระหว่างสองภูมิภาคนี้มีการติดต่อกันมากขึ้นในช่วงระหว่างพุทธศตวรรษที่
7-8 อาจกล่าวได้ว่าพ่อค้าอินเดียเดินทางเข้ามาติดต่อกับชาวพื้นเมืองด้วยการให้ของขวัญ
ยารักษาโรค ก่อนจะหยุดพักเพื่อรอลมมรสุมจึงค่อยเดินทางกลับ ระหว่างนั้นจึงเรียนรู้ภาษาพื้นเมืองและยังมีการแต่งงานกับคนพื้นเมืองก่อนที่พวกพราหมณ์และพระภิกษุจะเดินทางเข้ามา
อีกทั้งคนภายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เองก็ได้เดินทางไปศึกษาหรือค้าขายที่อินเดียแล้วรับวัฒนธรรมกลับเข้ามาด้วย
จึงทำให้ในช่วงนี้อารยธรรมของอินเดียมีการแพร่ขยายมากกว่าอารยธรรมอื่นๆ ซึ่งพบเห็นได้หลายทาง
เช่น ทางด้านศิลปะและพุทธศาสนา พบพระพุทธรูปแบบอมราวดีซึ่งเป็นรูปแบบทางภาคใต้ของอินเดียมีปรากฏอยู่หลายแห่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้, ตัวอักษรที่ใช้ในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ก็ล้วนมีรากฐานมาจากตัวอักษรสมัยราชวงศ์ปัลลวะ
ทางภาคใต้ของอินเดีย ตลอดจนชื่อสถานที่ที่มีลักษณะคล้ายกับอินเดียและประเพณีที่มีต้นกำเนิดคล้ายกับราชวงศ์ปัลลวะด้วย
เป็นต้น
เหตุที่อินเดียมีการติดต่อกันมากขึ้นนั้นเกิดจากหลายสาเหตุ ซึ่งสาเหตุหลักเกิดจากการที่ศาสนาพุทธในอินเดียนั้นรุ่งเรืองไม่กีดขวางการเดินทางร่วมกับผู้อื่นและเปิดโอกาสให้ทุกชนชั้นสามารถเดินทางออกนอกประเทศเหมือนพวกพราหมณ์ได้
ซึ่งทำให้มีการเผยแพร่พุทธศาสนาไปพร้อมๆกับการค้าขายของพวกพ่อค้าที่ต้องการสินค้าฟุ่มเฟือย
คือ ทอง ไม้หอม และยางไม้หอม และที่สำคัญเช่นเดียวกันก็คือ
ชาวอินเดียรู้จักการต่อเรือและวิถีลมมรสุมทำให้การเดินทางนั้นแม่นยำและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น ดังที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้นว่าพ่อค้าชาวอินเดียเป็นพวกแรกที่เดินทางเข้ามาก่อน
ทำให้เกิดการผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมกันทำให้ในระยะนี้เกิดอาณาจักรขึ้นมา เช่น
การสมรสของพราหมณ์อินเดียกับสตรีพื้นเมืองแต่งตั้งตัวเองเป็นหัวหน้ากลายมาเป็นอาณาจักรฟูนัน
เป็นต้น
อิสลามมาถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยพวกพ่อค้าที่เดินทางเข้ามาทางเรือเพื่อมาติดต่อค้าขายกับคนในแถบนี้ก็ได้นำศาสนาเข้ามาด้วย
โดยเริ่มต้นด้วยการเผยแผ่ให้กับชนชั้นปกครองในเมืองใหญ่ๆ และแถบชุมชนพ่อค้า
โดยการจะเปลี่ยนศาสนาเป็นอิสลามนี้จะไม่ใช่การบีบบังคับคือจะแล้วแต่ความศรัทธาของแต่ละคน
วิธีการก็จะเทศนาสั่งสอนและเกลี้ยกล่อมชักชวน ไม่ใช้การขู่เข็ญ ซึ่งถือว่าเป็นลักษณะเด่นของศาสนาอิสลาม
ลักษณะของศาสนาอิสลามบริเวณภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้นจะแตกต่างไปจากแถบอื่นเพราะพื้นที่อื่นๆจะเต็มไปด้วยลักษณะทางไสยศาสตร์เวทมนตร์และเรื่องลึกลับแต่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะกลับกลายเป็นเรื่องเชิงวิทยาศาสตร์
มีเหตุมีผล
เดินทางสายกลางจึงทำให้คนในแถบนี้มีจิตใจที่กว้างและงดงามไม่หยาบกระด้าง
ซึ่งหากเป็นที่อื่นจะมองว่าแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นี้เป็นพวกที่ทำตัวสอดคล้องกับความเป็นสมัยใหม่
นอกจากนี้ยังมีวัฒนธรรมที่คนแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้รับก็คือ ด้านขันติธรรม
ซึ่งเป็นเสมือนเครื่องหมายประจำศาสนาอิสลามในพื้นที่นี้
อาณาจักรในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ได้รับการเผยแผ่ศาสนาอิสลามก็มีหลายแห่ง
ยกตัวอย่างเช่น
ชาวมาเลเซียที่จะสนใจในสิ่งที่เป็นปัจจุบันมากว่าที่จะเชื่อและงมงายอยู่กับเรื่องลึกลับ
และยังเป็นอาณาจักรที่เป็นที่ชุมนุมการค้าขายระหว่างชาติต่างๆด้วยจึงทำให้อิสลามมีแพร่หลายอยู่ในมาเลเซีย
แถบหมู่เกาะสุมาตรา(เปอร์ลัก)มีการบูชาเจว็ดในอดีตแต่เมื่อมีการติดต่อกับพ่อค้าซาราเซนทำให้คนเหล่านี้เปลี่ยนมารับกฎของมูฮัมหมัด เป็นต้น
การเผยแพร่วัฒนธรรมของจีนลงมาทางใต้ของประเทศนั้นจะมากหรือน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับการครองราชย์ของจักรพรรดิจีนแต่ละราชวงศ์
และปัญหาภายในประเทศจนทำให้ต้องถอยร่นลงมาทางใต้เป็นเสมือนการสำรวจดินแดนทางตอนใต้
ทำให้การติดต่อกันระหว่างจีนและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้นมีความสัมพันธ์กันเป็นระยะๆแต่มีก็มีความต่อเนื่องอยู่ตลอด
และที่สำคัญคืออิทธิพลของอินเดียและอิสลามนั้นเริ่มเสื่อมลงทำให้จีนมีการแผ่อิทธิพลได้ง่ายมากยิ่งขึ้น
การติดต่อกับดินแดนทางตอนใต้ของจีนนั้นมุ่งเพียงเพื่อประกาศเกียรติยศศักดิ์ศรีและเพิ่มพูนความรู้ในทางพุทธศาสนาของตนเองเท่านั้น
ไม่ได้ต้องการที่จะแผ่อิทธิพลทางการเมืองและทางเศรษฐกิจให้กับอาณาจักรนั้นๆ เหมือนกับอิทธิพลของอิสลาม
ในสมัยของราชวงศ์ฮั่นอาณาจักรเวียดนามอยู่ภายใต้อาณานิคมของจีน
เวียดนามจึงได้กลายมาเป็นตัวเชื่อมต่อในการแผ่อิทธิพลเข้ามาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
อิทธิพลของพุทธศาสนาก็เป็นตัวการหลักที่ทำให้จีนมีการติดต่อกับอาณาจักรต่างๆมากมายที่นับถือพุทธศาสนาตั้งแต่ตอนที่อินเดียนำวัฒนธรรมนี้เข้ามา
ที่เห็นได้ชัดคืออาณาจักรศรีวิชัยที่ในสมัยราชวงศ์สุ้งใต้มีการส่งทูตและคอยช่วยเหลือด้านกองทัพในการตีชวาด้วย
เหตุเพราะศรีวิชัยเป็นอาณาจักรพาณิชยกรรม
ซึ่งควบคุมเส้นทางการค้าทางทะเลระหว่างจีนและอินเดียผ่านไปมาเพื่อค้าขายกันอยู่เสมอ
และที่สำคัญอาณาจักรศรีวิชัยนี้มีความเจริญทางด้านพุทธศาสนาทำให้ง่ายต่อการเดินทางมาศึกษาพระธรรมของชาวจีน
แทนที่จะเดินทางไปที่อินเดียซึ่งขณะนั้นพุทธศาสนาในอินเดียมีความเสื่อมแล้ว
สำหรับอาณาจักรอื่นก็มีการติดต่อกันอยู่บ้างแต่ไม่ได้ชัดเจนเท่ากับเวียดนามและศรีวิชัย
เช่นอาณาจักรฟูนันที่จีนได้มีการส่งทูตเข้าไปภายในอาณาจักร และอาณาจักรเจนละที่ปรองดองและติดต่อกับจีนอยู่ตลอดเวลา
เป็นต้น
การเข้ามาของอารยธรรมทั้งสามนั้นเป็นเสมือนการวางรากฐานทางด้านการปกครอง
การเมือง เศรษฐกิจ วิถีการดำเนินชีวิต และอื่นๆอีกมากมายให้แก่คนแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
แต่อารยธรรมที่มีแพร่หลายอย่างกว้างขวางก็น่าจะเป็นอินเดีย รองลงมาคือจีน
และอิสลามเป็นลำดับสุดท้าย
แม้ว่าหลายประเทศจะมีการติดต่อกับจีนมานานกว่าอินเดียแต่ว่าอินเดียนั้นไม่ได้ขยายอำนาจมาคุกคามอาณาจักรต่างๆในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เหมือนกับจีน
ทำให้อารยธรรมอินเดียมีอยู่ในหลายอาณาจักร ในขณะที่จีนจะเด่นอยู่ไม่มากนัก เช่น
เวียดนามที่ตกอยู่ภายใต้วัฒนธรรมของจีนก่อนที่จีนจะติดต่อกับแถบทางใต้
และอาณาจักรศรีวิชัยที่จีนต้องการเผยแผ่ศาสนาพุทธแล้วเป็นเมืองท่าสำหรับการค้าขายด้วยจึงมีความสัมพันธ์กันอย่างแน่นแฟ้น
เป็นต้น ในขณะที่อินเดียนั้นมีการเผยแผ่ศาสนาพร้อมกับแจกของขวัญ
ให้ยารักษาโรคต่างๆ
และยังมีการค้าที่สะดวกเรื่องการเดินทางอีกด้วยจึงทำให้เป็นที่แพร่หลายมากกว่า แต่ที่สำคัญคือชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รับวัฒนธรรมอินเดียแล้วนำมาผสมผสานกับวัฒนธรรมพื้นเมืองของตนเองทำให้จึงปรากฏอารยธรรมอินเดียในทุกอาณาจักร ในทางกลับกันอิสลามนั้นเข้ามาโดยการค้าของพ่อค้าเช่นเดียวกับอินเดีย
แต่การแพร่หลายของอิสลามนั้นจะเป็นพวกชนชั้นปกครองมากกว่าและผู้ปกครองเผยแผ่ให้กับประชาชนด้วยความสมัครใจ
ด้วยอารยธรรมเหล่านี้ทำให้ชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีรากฐานที่มั่นคงมาตั้งแต่โบราณจนปัจจุบันก็ยังคงมีให้เห็นกันอยู่
และยังทำให้เกิดการพัฒนาต่างๆอย่างไม่หยุดยั้งไม่ว่าจะเป็นเรื่อง การเดินทาง ศิลปะ
เทคโนโลยี และต่างๆอีกมากมายจนถึงทุกวันนี้
นางสางบานชื่น ผกามาศ
ผลผลิตของประเทศสยามและข้อแรกคือป่าไม้
ผลผลิตของประเทศสยามและข้อแรกคือป่าไม้
จดหมายเหตุ ลา ลูแบร์ ได้บันทึกถึงป่าไม้ที่อยู่ในประเทศสยามของเรานั้นหลายชนิด
พร้อมทั้งได้อธิบายลักษณะ และการนำไปใช้ประโยชน์ของไม้แต่ละชนิด เช่น ต้นไผ่
ต้นไทร ฝ้ายและนุ่น ต้นไม้ที่ให้น้ำและยาง ต้นไม้ที่ใช้เปลือกทำเป็นกระดาษ เป็นต้น
ลาลูแบร์ได้บันทึกว่าประเทศสยามของเรานั้นแทบจะไม่ได้รับการปรับปรุงที่ดินเลย
แต่ก็เต็มไปด้วยป่าไม้นานาชนิด ต้นไม้ชนิดที่มีชื่อเสียงมากเรียกกันว่า “ต้นไผ่” เป็นต้นไม้จำพวกเดียวกันกับแขม
มีลำต้นตรงสูงและยาว มีใบน้อย สีซีดๆ ในลำต้นนั้นกลวงและงอกแตกหน่อแทงขึ้นมาจากดินได้
จะเกิดถี่และเสียดสีกันมาก เนื้อของไม้ไผ่นั้นยากที่จะตัดเพราะว่าเนื้อหนามาก
ชาวสยามนั้นมักจะใช้ไม้ไผ่มาสีกันให้เกิดเป็นไฟได้ด้วย
และด้วยความที่เป็นพืชจำพวกเดียวกันกับแขมนั้นไม้ไผ่ย่อมจะมียางและน้ำตาล
น้ำตาลจากต้นไผ่นี้มีชื่อเสียงอยู่ในกลางประเทศอินเดียเป็นอย่างมากจะถือว่าใช้เป็นโอสถวิเศษก็ว่าได้
เพราะสามารถบำบัดโรคได้หลายประเภท
สำหรับต้นไทรหรือต้นไม้แห่งรากนั้น
ลาลูแบร์บันทึกไว้ว่าหากมีเล็กน้อยไว้ในที่นอนแล้วจะสามารถกำจัดยุงได้
ลักษณะกิ่งของมันนั้นมีสายหลายสายห้อยลงมาถึงพื้นดิน แล้วจะแตกรากเกิดเป็นลำต้นใหม่ขึ้นมาเท่าจำนวนของสายที่ห้อยย้อยลงมา
ซึ่งหากมันขยายออกไปกว้างจะมองดูคล้ายหุบเหวหนึ่งเลยทีเดียว
แต่ลาลูแบร์ก็เคยเห็นชาวสยามใช้วิธีอื่นในการกำจัดยุง
อาจเป็นเพราะว่าเนื้อไม้ชนิดนี้หายาก
หรืออาจจะไม่เชื่อในสรรพคุณของต้นไม้นี้ก็เป็นได้
ชาวสยามนั้นยังมีพฤกษาชาติที่อำนวยประโยชน์ในการทำหมอนและยัดเบาะที่นั่งด้วย
นั่นก็คือฝ้ายและนุ่น ลักษณะคล้ายกับสำลีอย่างละเอียด
แต่ใยนั้นเป็นใยที่สั้นๆไม่สามารถนำมาปั่นให้เป็นเส้นด้ายได้
ชายสยามได้น้ำมันชนิดต่างๆจากต้นไม้บางชนิด
นำไปผสมกับซีเมนต์จะทำให้มีความเหนียวยิ่งขึ้น งานฉาบผนังหรือกำแพงที่ออกมาก็จะเกลี้ยงเกลา
ผ่องเป็นมันราวกับหินอ่อน
และอ่างน้ำที่ใช้ปูนซีเมนต์ชนิดนี้ยังสามารถเก็บน้ำได้ดีกว่าการทำด้วยดินเหนียวอีกด้วย
การทำกระดาษของชาวต่างชาตินั้นใช้ผ้าขี้ริ้วบดให้ละเอียดแต่ชาวสยามนั้นทำจากผ้าฝ้ายเก่าๆและยังทำจากเปลือกของต้นข่อยด้วย
ซึ่งก็ต้องนำมาบดละเอียดเช่นเดียวกัน แต่คุณภาพที่ออกมามีความหนาบางไม่สม่ำเสมอ
เนื้อกระดาษและความขาวผ่องก็ด้อยกว่าของต่างชาติ
จะเขียนด้วยดินสอซึ่งเป็นดินเหนียวที่ปั้นแล้วนำมาตากแดด
หนังสือก็จะไม่มีการเย็บเข้าเล่ม แต่จะพับเป็นแผ่นยาวเหยียด นอกจากกระดาษแล้วชาวสยามยังมีการจารึกอักษรด้วยเหล็กจารึกลงบนใบลาน
ที่ตัดเป็นแผ่นสี่เหลี่ยมยาวมากแต่จะกว้างน้อยจะใช้เขียนชาดกและมนต์ตราต่างๆสำหรับภิกษุสวดกันในวัด
ประเทศสยามมีไม้คุณภาพที่ไว้สำหรับต่อเรือกำปั่น
และทำเสากระโดง เชือกนั้นใช้ใยในกาบมะพร้าว และใบเรือทำด้วยเสื่อกกผืนใหญ่
ถึงแม้ว่าจะไม่ดีสู้กับของต่างชาติไม่ได้แต่ก็มีประโยชน์มากกว่า เพราะมีน้ำหนักเบาและอุ้มลมได้ดีกว่า
นอกจากสร้างเรือแล้วยังมีไม้ที่ไว้สำหรับสร้างบ้านเรือน
มีทั้งไม้ที่เบาและหนักที่สุด ทั้งที่ง่ายและยากต่อการผ่าหรือตัด ชาวยุโรปเรียกว่า
“ไม้มารี”
ส่วนไม้ที่มีน้ำหนักมากและแข็งที่สุดเรียกว่า “ไม้เหล็ก”
ซึ่งหากเป็นไม้ที่สูงและลำต้นตรงท่อนเดียวก็อาจทำให้เรือ
หรือที่ชาวโปรตุเกสเรียกว่า บาล็อง ลาลูแบร์บันทึกไว้ว่าชาวสยามใช้วิธีขุดในท่องซุงนั้น
แล้วใช้ความร้อนค่อยเบิกปากให้เรือผายออก เลือกไม้ที่ยาวเท่ากันมาต่อเป็นกาบ
เอาไม้ต่อหัวเรือให้สูงเชิดและท้ายเรือให้ยื่นออกไปข้างหลัง
นอกจากทั้งหมดนี้แล้ว
ชาวสยามยังมีอบเชยถึงแม้ว่าจะด้อยกว่าของเกาะสิงหล
แต่ก็นับว่าดีกว่าของที่อื่นๆแล้ว และยังมีไม้กฤษณาหรือไม้ขอนดอกด้วย
แต่ลาลูแบร์ก็ได้บันทึกไว้ว่าแม้ชาวสยามจะมีไม้มากชนิดก็ไม่ปรากฏว่ามีชนิดที่ชาวยุโรปนั้นรู้จัก
และยังไม่มีไหมและป่านลินินด้วย
จากการศึกษาจดหมายเหตุ ลา ลูแบร์
เรื่องผลผลิตของประเทศสยามและข้อแรกคือป่าไม้ จะเห็นได้ว่าสมัยอยุธยานั้นประเทศไทยของเรามีความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติและป่าไม้มาก
มีการนำต้นไม้นานาชนิดมาทำประโยชน์เป็นเครื่องบริโภค เมื่ออ่านแล้วก็ได้รู้สึกชื่นชมลาลูแบร์ที่ได้บันทึกเรื่องราวของธรรมชาติในประเทศไทยในสมัยอยุธยาให้พวกเราได้ศึกษากัน
อ่านแล้วอยากจะเกิดเป็นคนในสมัยอยุธยาแล้วกลับมาเปรียบเทียบว่าปัจจุบันกับในสมัยอยุธยาว่ายุคไหนสมัยไหนดีกว่ากัน
เพราะว่าอ่านแล้วเข้าใจง่ายไม่ได้มีภาษาที่ยาก ไม่ต้องมาแปลอีกครั้งหนึ่ง
สามารถจินตนาการตามความที่บันทึกได้
นางสาวบานชื่น ผกามาศ
คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ เอกประวัติศาสตร์
มหาวิทยาลัยบูรพา
มองซิเออร์ เดอ ลาลูแบร์. (2548). จดหมายเหตุ ลา ลูแบร์
ราชอาณาจักรสยาม (พิมพ์ครั้งที่ 2).
นนทบุรี: ศรีปัญญา, หน้า 50-55
สมัครสมาชิก:
บทความ (Atom)