ผลผลิตของประเทศสยามและข้อแรกคือป่าไม้
จดหมายเหตุ ลา ลูแบร์ ได้บันทึกถึงป่าไม้ที่อยู่ในประเทศสยามของเรานั้นหลายชนิด
พร้อมทั้งได้อธิบายลักษณะ และการนำไปใช้ประโยชน์ของไม้แต่ละชนิด เช่น ต้นไผ่
ต้นไทร ฝ้ายและนุ่น ต้นไม้ที่ให้น้ำและยาง ต้นไม้ที่ใช้เปลือกทำเป็นกระดาษ เป็นต้น
ลาลูแบร์ได้บันทึกว่าประเทศสยามของเรานั้นแทบจะไม่ได้รับการปรับปรุงที่ดินเลย
แต่ก็เต็มไปด้วยป่าไม้นานาชนิด ต้นไม้ชนิดที่มีชื่อเสียงมากเรียกกันว่า “ต้นไผ่” เป็นต้นไม้จำพวกเดียวกันกับแขม
มีลำต้นตรงสูงและยาว มีใบน้อย สีซีดๆ ในลำต้นนั้นกลวงและงอกแตกหน่อแทงขึ้นมาจากดินได้
จะเกิดถี่และเสียดสีกันมาก เนื้อของไม้ไผ่นั้นยากที่จะตัดเพราะว่าเนื้อหนามาก
ชาวสยามนั้นมักจะใช้ไม้ไผ่มาสีกันให้เกิดเป็นไฟได้ด้วย
และด้วยความที่เป็นพืชจำพวกเดียวกันกับแขมนั้นไม้ไผ่ย่อมจะมียางและน้ำตาล
น้ำตาลจากต้นไผ่นี้มีชื่อเสียงอยู่ในกลางประเทศอินเดียเป็นอย่างมากจะถือว่าใช้เป็นโอสถวิเศษก็ว่าได้
เพราะสามารถบำบัดโรคได้หลายประเภท
สำหรับต้นไทรหรือต้นไม้แห่งรากนั้น
ลาลูแบร์บันทึกไว้ว่าหากมีเล็กน้อยไว้ในที่นอนแล้วจะสามารถกำจัดยุงได้
ลักษณะกิ่งของมันนั้นมีสายหลายสายห้อยลงมาถึงพื้นดิน แล้วจะแตกรากเกิดเป็นลำต้นใหม่ขึ้นมาเท่าจำนวนของสายที่ห้อยย้อยลงมา
ซึ่งหากมันขยายออกไปกว้างจะมองดูคล้ายหุบเหวหนึ่งเลยทีเดียว
แต่ลาลูแบร์ก็เคยเห็นชาวสยามใช้วิธีอื่นในการกำจัดยุง
อาจเป็นเพราะว่าเนื้อไม้ชนิดนี้หายาก
หรืออาจจะไม่เชื่อในสรรพคุณของต้นไม้นี้ก็เป็นได้
ชาวสยามนั้นยังมีพฤกษาชาติที่อำนวยประโยชน์ในการทำหมอนและยัดเบาะที่นั่งด้วย
นั่นก็คือฝ้ายและนุ่น ลักษณะคล้ายกับสำลีอย่างละเอียด
แต่ใยนั้นเป็นใยที่สั้นๆไม่สามารถนำมาปั่นให้เป็นเส้นด้ายได้
ชายสยามได้น้ำมันชนิดต่างๆจากต้นไม้บางชนิด
นำไปผสมกับซีเมนต์จะทำให้มีความเหนียวยิ่งขึ้น งานฉาบผนังหรือกำแพงที่ออกมาก็จะเกลี้ยงเกลา
ผ่องเป็นมันราวกับหินอ่อน
และอ่างน้ำที่ใช้ปูนซีเมนต์ชนิดนี้ยังสามารถเก็บน้ำได้ดีกว่าการทำด้วยดินเหนียวอีกด้วย
การทำกระดาษของชาวต่างชาตินั้นใช้ผ้าขี้ริ้วบดให้ละเอียดแต่ชาวสยามนั้นทำจากผ้าฝ้ายเก่าๆและยังทำจากเปลือกของต้นข่อยด้วย
ซึ่งก็ต้องนำมาบดละเอียดเช่นเดียวกัน แต่คุณภาพที่ออกมามีความหนาบางไม่สม่ำเสมอ
เนื้อกระดาษและความขาวผ่องก็ด้อยกว่าของต่างชาติ
จะเขียนด้วยดินสอซึ่งเป็นดินเหนียวที่ปั้นแล้วนำมาตากแดด
หนังสือก็จะไม่มีการเย็บเข้าเล่ม แต่จะพับเป็นแผ่นยาวเหยียด นอกจากกระดาษแล้วชาวสยามยังมีการจารึกอักษรด้วยเหล็กจารึกลงบนใบลาน
ที่ตัดเป็นแผ่นสี่เหลี่ยมยาวมากแต่จะกว้างน้อยจะใช้เขียนชาดกและมนต์ตราต่างๆสำหรับภิกษุสวดกันในวัด
ประเทศสยามมีไม้คุณภาพที่ไว้สำหรับต่อเรือกำปั่น
และทำเสากระโดง เชือกนั้นใช้ใยในกาบมะพร้าว และใบเรือทำด้วยเสื่อกกผืนใหญ่
ถึงแม้ว่าจะไม่ดีสู้กับของต่างชาติไม่ได้แต่ก็มีประโยชน์มากกว่า เพราะมีน้ำหนักเบาและอุ้มลมได้ดีกว่า
นอกจากสร้างเรือแล้วยังมีไม้ที่ไว้สำหรับสร้างบ้านเรือน
มีทั้งไม้ที่เบาและหนักที่สุด ทั้งที่ง่ายและยากต่อการผ่าหรือตัด ชาวยุโรปเรียกว่า
“ไม้มารี”
ส่วนไม้ที่มีน้ำหนักมากและแข็งที่สุดเรียกว่า “ไม้เหล็ก”
ซึ่งหากเป็นไม้ที่สูงและลำต้นตรงท่อนเดียวก็อาจทำให้เรือ
หรือที่ชาวโปรตุเกสเรียกว่า บาล็อง ลาลูแบร์บันทึกไว้ว่าชาวสยามใช้วิธีขุดในท่องซุงนั้น
แล้วใช้ความร้อนค่อยเบิกปากให้เรือผายออก เลือกไม้ที่ยาวเท่ากันมาต่อเป็นกาบ
เอาไม้ต่อหัวเรือให้สูงเชิดและท้ายเรือให้ยื่นออกไปข้างหลัง
นอกจากทั้งหมดนี้แล้ว
ชาวสยามยังมีอบเชยถึงแม้ว่าจะด้อยกว่าของเกาะสิงหล
แต่ก็นับว่าดีกว่าของที่อื่นๆแล้ว และยังมีไม้กฤษณาหรือไม้ขอนดอกด้วย
แต่ลาลูแบร์ก็ได้บันทึกไว้ว่าแม้ชาวสยามจะมีไม้มากชนิดก็ไม่ปรากฏว่ามีชนิดที่ชาวยุโรปนั้นรู้จัก
และยังไม่มีไหมและป่านลินินด้วย
จากการศึกษาจดหมายเหตุ ลา ลูแบร์
เรื่องผลผลิตของประเทศสยามและข้อแรกคือป่าไม้ จะเห็นได้ว่าสมัยอยุธยานั้นประเทศไทยของเรามีความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติและป่าไม้มาก
มีการนำต้นไม้นานาชนิดมาทำประโยชน์เป็นเครื่องบริโภค เมื่ออ่านแล้วก็ได้รู้สึกชื่นชมลาลูแบร์ที่ได้บันทึกเรื่องราวของธรรมชาติในประเทศไทยในสมัยอยุธยาให้พวกเราได้ศึกษากัน
อ่านแล้วอยากจะเกิดเป็นคนในสมัยอยุธยาแล้วกลับมาเปรียบเทียบว่าปัจจุบันกับในสมัยอยุธยาว่ายุคไหนสมัยไหนดีกว่ากัน
เพราะว่าอ่านแล้วเข้าใจง่ายไม่ได้มีภาษาที่ยาก ไม่ต้องมาแปลอีกครั้งหนึ่ง
สามารถจินตนาการตามความที่บันทึกได้
นางสาวบานชื่น ผกามาศ
คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ เอกประวัติศาสตร์
มหาวิทยาลัยบูรพา
มองซิเออร์ เดอ ลาลูแบร์. (2548). จดหมายเหตุ ลา ลูแบร์
ราชอาณาจักรสยาม (พิมพ์ครั้งที่ 2).
นนทบุรี: ศรีปัญญา, หน้า 50-55
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น