วันอาทิตย์ที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2555

“นิสิตนักศึกษา” เครื่องมือที่ถูกใช้ในเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ

               “นิสิตนักศึกษา” เครื่องมือที่ถูกใช้ในเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ 
หากเปรียบอดีตเป็นตัวละครเรื่องหนึ่งที่ตัวละครมากมายโลดแล่นอยู่บนเวที ความทรงจำต่างๆที่เรามีต่ออดีตก็เปรียบเสมือนแสงไฟจากสปอตไลท์ที่คอยสาดส่องไปบนเวที มีผู้ชมที่ชมอยู่ด้านล่างคอยชม คอยเชียร์ คอยให้กำลังใจและคอยลุ้นไปตามเรื่องราวบนเวที รุ่งขึ้นหลังละครนั้นจบลง บรรดาหนังสือพิมพ์ วารสารต่างๆ ก็มีการเขียนถึงละครเรื่องนั้นพร้อมกับภาพประกอบละครที่ต่างสำนักพิมพ์กัน  ก็จะแตกต่างกันไป ตามความคิด ความรู้สึกและทัศนคติของผู้เขียนแต่ละคน เมื่อเวลาผ่านไปเรื่องราวเหล่านี้กลายมาเป็นประวัติศาสตร์ให้รุ่นหลังๆได้ศึกษา และนำมาวิพากษ์วิจารณ์ต่อเรื่องราวนั้นๆ ซึ่งยิ่งกาลเวลาผ่านไป เนิ่นน่านเท่าไหร่ก็ยากที่จะหาข้อมูลที่ถูกต้องที่สุดและเป็นจริงที่สุด จะมีก็เพียงแต่ข้อมูลที่ใกล้เคียงที่ผู้เชี่ยวชาญหลายคนลงความเห็นว่าสามารถเชื่อถือได้มากที่สุด (ใช้หลักฐานชิ้นอื่นๆประกอบด้วย)         เท่านั้นเอง  ซึ่งหลักฐานแต่ละชิ้นนั้นก็จะให้ข้อมูลที่แตกต่างกันออกไป แล้วแต่ว่าใครจะนำข้อมูลชิ้นไหนมาวิเคราะห์หรือว่ากล่าวถึง จึงจะเห็นได้ว่าแม้จะเป็นอดีตเดียวกัน  เหตุการณ์เดียวกัน เวลาเหมือนกัน แต่ผลที่ออกมาก็แตกต่างกันไม่ว่าจะเป็นแง่ของความคิดและการแสดงออกต่ออดีต

 เหตุของความรุนแรง 6 ตุลาฯ
            ย้อนกลับไปเดือนตุลาคม 2519 คงจะไม่มีใครที่ไม่รู้จักเหตุการณ์ 6 ตุลา หรือการชุมนุมเพื่อขับไล่ไม่ให้จอมพลประภาส จารุเสถียรและจอมพลถนอม กิตติขจรกลับเข้าประเทศหลังจากต้องออกนอกประเทศไปตอนเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ที่มีการชุมนุมของกลุ่มนิสิตนักศึกษาเพื่อเรียกร้องรัฐธรรมนูญจากรัฐบาลเผด็จการ (รัฐบาลของจอมพลถนอม กิตติขจร) สาเหตุของความขัดแย้งในเดือนตุลาคม 2519 จนนำไปสู่การนองเลือดนั้น เดิมทีเกิดเรื่องเมื่อครั้งที่จอมพลประภาสเดินทางเข้าประเทศ (ซึ่งเดินทางเข้ามาก่อนจอมพลถนอม) แต่ก็ไม่ได้เกิดเหตุร้ายแรงเท่ากับการที่จอมพลถนนอมเดินทางเข้าประเทศโดยการบวชสามเณร กลุ่มศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยได้รวมตัวกันชุมนุมประท้วงขับไล่อย่างจริงจัง โดยมีการรวมตัวอยู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระหว่างนั้นก็ได้มีการแสดงละครกรณีที่พนักงานไฟฟ้านครปฐมและสมาชิกแนวร่วมต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ ถูกแขวนคอและถูกซ้อมจนตายระหว่างที่ทำการออกติดป้ายโปสเตอร์ประท้วงต่อต้านจอมพลถนอม เหตุการณ์แสดงละครนี้ทำให้แกนนำที่ทำการแสดงถูกฟ้องหมิ่นประมาท เรื่องที่คนแสดงที่ถูกแขวนคอมีหน้าตาละม้ายคล้ายกับพระบรม       วงศานุวงศ์พระองค์หนึ่ง  ขณะนั้นการเมืองการปกครองของไทยเป็นของคณะรัฐมนตรีชุด ม...เสนีย์ ปราโมทย์ (พรรคประชาธิปัตย์) ต้องทำหน้าที่ดูแลเรื่องราวและจัดการควบคุมเหตุการณ์ทั้งหมดให้เรียบร้อยทั้งเรื่องการแสดงคนถูกแขวนคอและการชุมนุมประท้วงของกลุ่มนิสิตนักศึกษา อีกทั้งจะต้องรักษาความปลอดภัยของประชาชนให้ได้มากที่สุดอีกด้วย แต่ก็คงจะไม่ใช่เรื่องง่ายนักเพราะว่าก็ได้มีอีกกลุ่มหนึ่งที่ทำการชุมนุมประท้วงไม่เห็นด้วยกับแนวคิดของกลุ่มนิสิตนักศึกษา คือ กลุ่มนวพล ลูกเสือชาวบ้าน ชมรมแม่บ้าน ชมรมวิทยุเสรี เป็นต้น ก็ได้ทำการชุมนุมที่ลานพระรูปทรงม้าด้วยเช่นกัน ขณะนั้นคณะรัฐมนตรีจะกระทำหรือสั่งการอะไรก็ต้องให้มีความเสมอภาคกันมากที่สุด เพราะต่างฝ่ายต่างก็มีความเห็นทางด้านการเมืองที่แตกต่างกัน
“กลุ่มนิสิตนักศึกษา”  เครื่องมือที่ถูกมายืมใช้
            การแสดงละครเรื่องพนักงานไฟฟ้านครปฐมถูกแขวนคอ ของคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถูกสถานีวิทยุยานเกราะนำมาเผยแพร่ข่าวว่าคนที่แสดงถูกแขวนคอนั้นมีหน้าตาละม้ายคล้ายกับพระบรมวงศานุวงศ์พระองค์หนึ่ง จึงเหมือนกับว่ากลุ่มนักศึกษาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ จนมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักในเวลาต่อมา เห็นได้ว่ากลุ่มที่เปรียบเสมือนกำลังเสียงโหมกระหน่ำเรื่องนี้คือ กลุ่มของคลื่นวิทยุยานเกราะ โดยการนำของ พล ท.อุทาร สนิทวงศ์ ณ อยุธยา  นายสมัคร สุนทรเวชและทมยันตี และการที่กลุ่มนิสิตนักศึกษาถูกโจมตีจากวิทยุคลื่นนี้คงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรมากนัก เพราะว่ากลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่คัดค้านความคิดและแนวทางของกลุ่มนิสิตนักศึกษาเช่นเดียวกับกลุ่มที่ชุมนุมที่ลานพระรูปทรงม้า อีกทั้งมีฐานอำนาจทางการเมืองแม้จะไม่ได้มีตำแหน่งที่สำคัญไว้รองรับแต่ก็สามารถที่จะคัดค้านอำนาจของนายกรัฐมนตรีได้ คือ พรรคชาติไทยและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (คนในคณะรัฐบาลของ ม...เสนีย์ ปราโมทย์) สถานีวิทยุยานเกราะจึงเผยแพร่ข่าวในทางสร้างกระแสโจมตี กลุ่มนิสิตนักศึกษา พร้อมทั้งเรียกร้องให้มีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ โดยมีเรียกร้องให้ขับไล่รัฐมนตรีฝ่ายซ้าย 3 คนออก ( นายสุรินทร์ มาศดิตถ์  นายชวน หลีกภัย และนายดำรง ลัทธพิพัฒน์)โดยอ้างว่ามีส่วนรู้เห็นและเกี่ยวข้องกับกลุ่มนิสิตนักศึกษา  แล้วให้นายสมัคร  สุนทรเวชเป็นรัฐมนตรีมหาดไทย (ชมรมแม่บ้านเป็นกลุ่มที่เสนอข้อเรียกร้องนี้ต่อนายกรัฐมนตรี) ซึ่งการเรียกร้องในลักษณะแบบนี้แสดงให้เห็นว่ากลุ่มพรรคชาติไทยและสถานีวิทยุยานเกราะมีการร่วมมือวางแผนและมีการเตรียมการที่จะทำรัฐประหารหรือโค่นอำนาจของ ม...เสนีย์ ปราโมทย์ไว้ตั้งแต่ก่อนหน้านี้แล้ว โดยมีการร่วมมือกันระหว่างคนในชุดรัฐมนตรีเก่า กับคนที่อยากที่จะมีอำนาจใหม่  ในการประชุมคณะรัฐมนตรีครั้งสุดท้ายเช้าวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ฝ่ายนายกรัฐมนตรีได้เสนอให้มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน แต่นายชาติชาย ชุณหะวันคัดค้านการเสนอให้ออกประกาศ เพราะจะส่งผลต่อกลุ่มที่ชุมนุมอยู่ที่ลานพระบรมรูปทรงม้าเดือดร้อนตามไปด้วย แต่เมื่อเห็นว่าจะแพ้คะแนนเสียงในสภาจึงพาพล...เจริญฤทธิ์  จำรัสโรมรันเข้ามาร่วมคัดค้านด้วย คำถามหนึ่งที่ควรคิดคือทำไมถึงพล...เจริญฤทธิ์ เข้าไปร่วมประชุมแล้วสามารถโต้ตอบ/เถียงกับนายกรัฐมนตรีได้ โดยที่ไม่ได้มีตำแหน่งทางการเมืองแต่อย่างใด และก็สามารถทำให้เสียงในสภานั้นพลิกผัน เมื่อเหตุการณ์ขณะนั้นเป็นเช่นนี้ก็ดูเหมือนว่ากลุ่มนิสิตนักศึกษาที่ทำการประท้วงอยู่นั้นได้กลายเป็นเครื่องมือของกลุ่มนักการเมืองที่ต้องการผลประโยชน์เข้าตนเอง โดยการเป็นเครื่องมือครั้งนี้ถึงขั้นต้องเสียเลือดเสียเนื้อแม้จะต่อสู้ด้วยความถูกต้อง ไม่มีอาวุธให้ใช้เหมือนดั่งฝ่ายทหารและตำรวจ หากหลายคนเคยได้เห็นภาพของตำรวจนายหนึ่งที่เล็งปืนเข้าไปสู่กลุ่มนิสิตนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์พร้อมกับปากคาบบุหรี่อย่างสบายใจ จะสะท้อนให้เห็นว่าการทำงานของตำรวจเหมือนเป็นการทำงานด้วยความสะใจมากกว่าทำงานเพื่อหน้าที่ ทั้งที่คนเป็นตำรวจน่ามีจรรยาบรรณความซื่อสัตย์และความยุติธรรมต่อประชาชนแต่ภาพที่สื่อออกมากลับไม่ได้เป็นอย่างที่ดี ก็คงได้แต่รู้สึกสงสารกลุ่มนิสิตนักศึกษาที่ต้องกลายมาเป็นเครื่องมือให้กับนักการเมืองและคนที่ต้องการมีอำนาจทางการเมือง โดยที่ไม่สามารถทำอะไรไดนอกจากยอมรับและโดนทำร้าย
ผลลัพธ์ที่ออกมา
            ผลที่ออกมาของเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 กลุ่มนิสิตนักศึกษาถูกปิดล้อมอยู่ภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์โดยกลุ่มทหารและตำรวจ ซึ่งมีกำลังและอาวุธครบมือ หากกล่าวตามเอกสารที่ได้อ้างถึงเหตุการณ์นี้จะพบว่ากลุ่มนิสิตนักศึกษานั้นมีอาวุธเพียงแค่เล็กน้อยเท่านั้น อาจจะกล่าวได้ว่ามีเพียง 10% จาก 100% ก็ว่าได้ ซึ่งอาวุธส่วนใหญ่ของนักศึกษาก็เป็นปืนพกขนาดเล็ก ระเบิดขวด เป็นต้น ส่วนอาวุธที่เป็นของกลุ่มทหารและตำรวจนั้น มีระเบิด ปืนสั้น ปืนขนาดต่างๆกันไป แต่เมื่อความจริงเป็นเช่นนี้แล้ว พล... ชุมพล โลหะชาละ รองอธิบดีกรมตำรวจกลับรายงานต่อ ม...เสนีย์ ปราโมทย์ ว่ากลุ่มนิสิตนักศึกษามีอาวุธร้ายแรงถึงขนาดกับยิงตอบโต้กับกลุ่มทหารและตำรวจจนได้รับบาดเจ็บและตายไปหลายราย แต่ในเวลาต่อมาอธิบดีกรมตำรวจได้เข้ามารายงานซึ่งได้ให้ข้อมูลที่ตรงกันข้ามกับที่ พล... ชุมพลกล่าวไว้อย่าสิ้นเชิง จึงไม่ใช่เพียงแต่รัฐมนตรีหรือข้าราชการที่อยู่ในสภาเท่านั้นที่เตรียมพร้อมที่จะทำรัฐประหารแม้แต่รองอธิบดีเองก็มีส่วนเกี่ยวข้องและรู้เห็นเป็นใจด้วย ซึ่งหากในเวลานั้นอธิบดีกรมตำรวจไม่เข้ามารายงานผลก่อน นายกรัฐมนตรีอาจจะสั่งการที่เป็นอันตรายถึงชีวิตของกลุ่มนิสิตนักศึกษาแล้วก็เป็นได้ ซึ่งหากท่านได้สั่งการเป็นอย่างนั้นก็จะทำให้คำสั่งนั้นกลายเป็นคำสั่งที่กลับมาทำร้ายตัวของท่านเองก็เป็นได้ เพราะว่าสถานการณ์ในขณะนั้นไม่ได้รุนแรง แต่เมื่อนายกรัฐมนตรีสั่งการว่าอย่างไรก็ต้องทำตาม เป็นการเปิดโอกาสและช่องทางในการทำร้ายและกำจัดกลุ่มนิสิตนักศึกษาของอีกหลายกลุ่มก็เป็นได้ แต่ไม่ว่านายกรัฐมนตรีจะสั่งการหรือไม่สั่งการอย่างไร ผลที่ออกมาก็เป็นภาพที่สยดสยองอยู่ในผู้คนที่ร่วมในเหตุการณ์นั้นอยู่ตลอดเวลา นั้นก็คือ การที่กลุ่มนิสิตนักศึกษานั้นถูกยิงกราดเข้าไปภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อย่างหนักโดยไม่ว่าจะกล่าวคำอ้อนวอนให้เด็กและสตรีออกไปข้างนอก ฝ่ายทหารและตำรวจก็ไม่ยอมฟังยังโหมกระหน่ำยิงเข้าใส่กลุ่มนิสิตนักศึกษาเหมือนกับไม่ใช่ยิงเข้าใส่คน และเมื่อยิงแล้วก็ยังลากศพทั่วสนาม หรือแม้จะเป็นผู้ที่ไม่มีอาวุธที่ร้ายแรงมีเพียงแค่ไม้ท่อนเดียวก็ยิ่งเข้าใส่อย่างไม่ใส่ใจ การกระทำเช่นนี้ไม่น่าที่จะเกิดขึ้นได้เพราะดูเหมือนเป็นการกระทำที่โหดร้ายทารุณเพื่อนมนุษย์จนเกินไป อีกทั้งเมื่อมาตรวจสอบถึงคำให้สัมภาษณ์ของนายกรัฐมนตรีแล้วก็พบว่านายกฯไม่ได้เป็นคนที่สั่งการให้ทำเช่นนี้ จึงมีคำถามให้คิดอีกว่า ในเมื่อนายกรัฐมนตรีไม่ได้เป็นคนสั่งการแล้วใครเป็นคนสั่งการ ? หากตอบแบบคาดเดาก็คงตอบได้ว่า อาจจะเป็นฝ่ายของตำรวจหรือฝ่ายของทหารก็เป็นได้ ซึ่งในส่วนนี้ก็ยังไม่สามารถหาคำตอบที่แน่นอนได้ การตัดสินใจในการปราบจลาจลของกลุ่มประท้วงนั้นจะปฏิเสธไม่ได้เลยว่าจะต้องมีการนองเลือด แต่จะทำอย่างไรให้มีคนเสียชีวิตน้อยที่สุดหรือไม่ให้มีเพียงแค่ผู้บาดเจ็บเท่านั้น  จากเหตุการณ์นี้ก็ไม่มีหลักฐานชิ้นไหนที่บอกได้ว่ามีผู้รับผิดชอบต่อเหตุการณ์นี้ หลายต่อหลายคนได้ปล่อยให้การเสียชีวิตของประชาชนซึ่งเป็นกลุ่มนิสิตนักศึกษาเป็นเรื่องที่หายไปตามกาลเวลาโดยไม่สามารถหาผู้ที่กระทำการรุนแรงหรือผู้สั่งการมาลงโทษได้  สะท้อนให้เห็นว่าตำแหน่งนายกรัฐมนตรีขณะนั้นไม่ได้มีอำนาจในการคลี่คลายปัญหาความรุนแรง จึงไม่ใช่เรื่องแปลกสำหรับสังคมไทยอีกต่อไปแล้ว หากเกิดเหตุการณ์การชุมนุมประท้วงอีก ก็คงจะต้องพึ่งพารัฐประหารเข้ามาควบคุมสถานการณ์ ซึ่งแม้หลายคนไม่อยากที่จะให้เกิดการรัฐประหาร แต่ก็คงเลี่ยงไม่ได้ว่าทุกครั้งการรัฐประหารโดยการนำของกลุ่มทหารก็ทำให้บ้านเมืองสู่ความสงบอีกครั้งหนึ่ง
            จากก่อนที่ประชาชนไม่เคยเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองเลยแม้แต่น้อย แต่หลังจากการเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ซึ่งเป็นเสมือนจุดพลิกให้ประชาชนทุกคนมีส่วนร่วมทางการเมืองมากขึ้น มีปากมีเสียงมากขึ้น จนเชื่อมโยงมาถึงเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ซึ่งแม้ทั้งสองเหตุการณ์นี้มีผู้เสียชีวิตมากมาย แต่ก็สะท้อนให้เห็นถึงความต้องการที่จะเห็นประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยยิ่งขึ้น แม้ว่าสุดท้ายแล้วก็จะต้องจบลงด้วยการทำรัฐประหารก็ตาม เหตุการณ์ในอดีตก็ย่อมทำให้เห็นภาพของสังคมและการเมืองที่มีปัญหา พฤติกรรมของคนที่แตกต่างกันไป ก็คงเป็นอีกสีสันหนึ่งที่ช่วยเติมแต่งและแต้มให้กับเหตุการณ์นั้นๆ ดูเหมือนว่าเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ จะเป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นการกระทำของฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายทหาร และฝ่ายประชาชน (ที่ไม่ใช่กลุ่มนิสิตนักศึกษา) ที่มีมาตรฐานไม่ทัดเทียมกัน เพราะทุกคนย่อมีเหตุผลเป็นของตัวเอง และคงจะต้องทำเพื่อให้ตัวเองอยู่รอดในสังคมที่มีแต่ความแก่งแย่งกันเป็นธรรมดา แต่เพราะสิ่งนี้จึงทำให้กลุ่มนิสิตนักศึกษากลายมาเป็นเครื่องมือที่ถูกใช้ และหลังจากเหตุการณ์นั้นตัวละครที่เป็นกลุ่มนิสิตนักศึกษาที่เคยเป็นตัวละครที่โดดเด่นกลับจางหายไปจากประวัติศาสตร์ ซึ่งแม้แต่ปัจจุบันเรื่องทางการเมืองก็ดูจะเป็นเรื่องไกลตัวไปแล้วสำหรับนิสิตนักศึกษา คงจะดีไม่น้อยถ้ากลับมาเห็นความสำคัญของการเมืองอีกครั้งหนึ่งแล้วช่วยกันทำให้ประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยจริงๆเสียที

 นางสาวบานชื่น    ผกามาศ


คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์  เอกประวัติศาสตร์
มหาวทิยาลัยบูรพา  บางแสน

เอกสารอ้างอิง
ชาญวิทย์ เกษตรศิริ. (2541). จาก 14 ถึง 6 ตุลาฯ. กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และ
              มนุษยศาสตร์.
ธิกานต์  ศรีนารา. (2553). หลัง 6 ตุลาฯ ว่าด้วยภาพความขัดแย้งทางความคิดระหว่างขบวนการนักศึกษา
           ก่อพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (2). กรุงเทพฯ: ๖ ตุลาฯรำลึก.
ประจักษ์ ก้องกีรติ. (2545). สงครามความทรงจำกับการปฏิบัติการทางการเมืองขบวนการนักศึกษาไทย
             หลัง 6 ตุลา-ปัจจุบัน. จุลสารไทยคดีศึกษา, 18(4), 15-37





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น